ท่อร้อยสายไฟ จัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับ การเดินสายไฟ ภายในอาคารทั่วไปเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้ การเดินสายไฟ เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถช่วยปกป้องสายไฟจากการถูกกระแทกหรืออันตรายที่อาจทำให้สายไฟเกิดการชำรุดได้
เรามาเรียนรู้กันดีกว่าว่า ท่อร้อยสายไฟ มีลักษณะการใช้งานแตกต่างกันอย่างไร
การใช้งาน ท่อร้อยสายไฟ ในแต่ละประเภท
1.ท่อโลหะขนาดบาง หรือ ท่ออีเอ็มที (EMT ; Electrical Metallic Tubing)
ท่อ EMT ใช้เดินลอยในอากาศ หรือฝังในผนังคอนกรีตได้ แต่ห้ามฝังดิน หรือฝังในพื้นคอนกรีต ในสถานที่อันตราย ระบบแรงสูง หรือบริเวณ ที่อาจเกิดความเสียหายทางกายภาพ ขนาดท่อที่มีขายในท้องตลาดคือ 1/2″ , 3/4″ , 1″ , 1 1/4″ , 1 1/2″ , 2″ การดัดท่อชนิดนี้ใช้ bender ที่มีขนาดเท่ากับขนาดท่อ สำหรับท่อที่มีขนาดใหญ่ อาจใช้ข้อโค้งสำเร็จรูป (Elbow) ที่วางขายทั่วไปได้ เช่น ข้อโค้ง 90 องศา
2.ท่อโลหะขนาดกลาง หรือ ไอเอ็มซี (IMC ; Intermediate Metallic Conduit)
ท่อ IMC ใช้เดินนอกอาคาร หรือฝังในผนัง-พื้นคอนกรีตได้ ขนาดท่อที่มีขายในท้องตลาดคือ 1/2″ , 3/4″ , 1″ , 1 1/4″ , 1 1/2″ , 2″ , 2 1/2″ , 3″ , 3 1/2″ และ 4″ การดัดท่อชนิดนี้ใช้ hickey ที่มีขนาดเท่ากัน สำหรับท่อที่มีขนาดใหญ่ อาจใช้ข้อโค้งสำเร็จรูป ที่วางขายทั่วไปได้ เช่น ข้อโค้ง 90 องศา
3.ท่อหนาพิเศษ หรือ ท่ออาร์เอสซี (RSC ; Rigid Steel Conduit)
ท่อ RSC ใช้เดินนอกอาคาร หรือฝังในผนัง-พื้นคอนกรีตได้ ขนาดท่อที่มีขายในท้องตลาดคือ 1/2″ , 3/4″ , 1″ , 1 1/4″ , 1 1/2″ , 2″ , 2 1/2″ , 3″ , 3 1/2″, 4″ ,5″ และ 6″ การดัดท่อชนิดนี้ใช้ hickey หรือเครื่องดัดท่อไฮดรอลิกที่มีขนาดเท่ากัน สำหรับท่อที่มีขนาดใหญ่ อาจใช้ข้อโค้งสำเร็จรูปคล้ายกับข้อโค้งสำเร็จรูปของท่อ IMC ที่วางขายทั่วไปได้ เช่น ข้อโค้ง 90 องศา เป็นต้น
4.ท่อโลหะชนิดอ่อน (Flexible Metal Conduit)
ทำด้วยแผ่นเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีทั้งผิวภายนอกและภายใน เป็นท่อที่มีความอ่อนตัว โค้งงอไปมาได้ เหมาะสำหรับต่อเข้ากับดวงโคม มอเตอร์หรือเครื่องจักรกลที่มีการสั่นสะเทือน มีขนาดตั้งแต่ 1/2″ – 4″
5.ท่อโลหะชนิดอ่อนกันน้ำ (Raining Flexible Metal Conduit)
เป็นท่อโลหะอ่อนที่มีเปลือก PVC หุ้มด้านนอกเพื่อกันความชื้น ไม่ให้เข้าไปภายในท่อได้ ใช้งานในบริเวณที่ต้องการความอ่อนตัวของท่อเพื่อป้องกันสายไฟฟ้า ชำรุด จากไอของเหลวหรือของแข็งหรือในที่อันตราย ห้ามใช้ในบริเวณที่อุณหภูมิใช้งานของ สายไฟฟ้าสูงมากจนทำให้ท่อเสียหายมีขนาดตั้งแต่ 1/2″ – 4″
6.ท่อพีวีซี (PVC) สีเหลือง
ทำด้วยพลาสติกพีวีซี ที่มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ แต่ข้อเสียคือขณะที่ถูกไฟไหม้จะมีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อคนเราออกมาด้วย และไม่ทนต่อแสงอัลตร้าไวโอเล็ตทำให้ท่อกรอบเมื่อโดนแดดเป็นเวลานาน ท่อที่ใช้ในงานไฟฟ้ามีสีเหลือง มีขนาดตั้งแต่ 1/2″ – 4″ และยาวท่อนละ4 เมตร
ท่อ PVC ใช้เดินลอยในอากาศ หรือฝังในผนังคอนกรีตได้ แต่ห้ามใช้ใน บริเวณที่อาจเกิดความเสียหายทางกายภาพ ขนาดท่อที่มีขายในท้องตลาด คือ 3/8″ , 1/2″ , 3/4″ , 1″ , 1 1/4″ , 1 1/2″ , 2″ , 2 1/2″ , 3″ และ 4″ สำหรับท่อ ขนาด 3″ และ 4″ มีความยาว 2 ขนาดคือ 4 และ 6 เมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท
7.ท่อ HDPE (High Density Polyethylene)
ทำด้วยพลาสติก polyethylene ชนิด high density ที่มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ มีความแข็งแรงสูง ยืดหยุ่นตัวได้ดี มีทั้งแบบผิวเรียบ และแบบลูกฟูก ใช้เดินสายบนผิวในที่โล่ง, บนฝ้าในอาคาร, เดินสายใต้ดินทั้งแรงดันต่ำและ แรงดันสูงปานกลาง ทนต่อแรงกดอัดได้ดี ข้อได้เปรียบของท่อชนิดนี้ คือความอ่อนตัวจึงไม่ต้องดัดท่อทำให้เดินท่อได้สะดวกรวดเร็ว ขนาดของท่อ มีตั้งแต่ 1/2″ ขึ้นไป
ขอขอบคุณที่มา : bcghome